โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า หมายถึง อาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 หรือเส้นประสาทไทรเจมินัล (trigeminal nerve) ซึ่งเลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะ ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการเคี้ยวอาหาร และรับความรู้สึกที่ตาและใบหน้า
พบได้ประมาณปีละ 4-5 คน ต่อประชากร 100,000 คน พบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี อาจพบได้น้อยในเด็กและวัยหนุ่มสาว พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า
เส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 หรือเส้นประสาทไทรเจมินัล (trigeminal nerve) แยกเป็น 3 แขนงย่อย ได้แก่
แขนงบน หรือแขนงตา ครอบคลุมบริเวณหน้าผาก ตา จมูก
แขนงกลาง หรือแขนงแก้ม ครอบคลุมบริเวณ เปลือกตาล่าง ข้างจมูก แก้ม เหงือก ริมฝีปาก ฟันบน
แขนงล่าง หรือแขนงขากรรไกร ครอบคลุมบริเวณ ขากรรไกร ฟันล่าง เหงือก ริมฝีปากล่าง
โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า อาจเกิดอาการปวดในบริเวณใบหน้าที่มีแขนงเส้นประสาทไปเลี้ยงเพียงแขนงเดียว หรือมากกว่า 1 แขนงได้
สาเหตุ
ส่วนใหญ่ เกิดจากหลอดเลือดที่อยู่ใกล้กับเส้นประสาทไทรเจมินัลที่อยู่ตรงฐานของสมอง เคลื่อนเข้ามาสัมผัสหรือกดทับเส้นประสาทดังกล่าว ทำให้เส้นประสาททำงานผิดปกติ
ส่วนน้อยอาจเกิดจากความเสื่อมตามอายุ หรือเปลือกหุ้มเส้นประสาท (myelin sheath) เสื่อมจากโรคบางชนิด (เช่น multiple sclerosis) นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น มีก้อนเนื้องอกกดทับเส้นประสาทไทรเจมินัล มีความผิดปกติอื่น ๆ ในสมอง การบาดเจ็บหรือการผ่าตัดบริเวณใบหน้า
อาการ
มีอาการปวดแปลบคล้ายถูกไฟฟ้าช็อตหรือเข็มทิ่ม อย่างเฉียบพลันและรุนแรง นานครั้งละไม่กี่วินาทีถึง 2-3 นาที ในบริเวณใบหน้าที่เส้นประสาทไทรเจมินัลไปเลี้ยง ตำแหน่งที่ปวดบ่อย ได้แก่ แก้ม ขากรรไกร ฟัน เหงือก ริมฝีปาก ส่วนน้อยอาจปวดที่บริเวณตาและหน้าผาก มักเป็นที่ใบหน้าเพียงซีกใดซีกหนึ่ง (โอกาสที่เกิดขึ้นทั้งสองซีกพบได้น้อยมาก)
อาการปวดอาจอยู่ ๆ เกิดขึ้นมาเอง หรืออาจมีสิ่งกระตุ้น เช่น เวลายิ้ม พูด เคี้ยวอาหาร ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด ล้างหน้า แปรงฟัน โกนหนวด แต่งหน้า โดนสัมผัส โดนลม โดนแอร์ เคลื่อนไหวศีรษะ เป็นต้น
บางรายอาจมีอาการปวดเล็กน้อย รู้สึกแสบร้อน หรือมีอาการชา เสียวหรือซ่า ก่อนที่จะมีอาการปวดแปลบ
อาการปวดแปลบดังกล่าวอาจเกิดตรงจุดเดียว หรือแผ่กระจายเป็นบริเวณกว้างก็ได้ และมักเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ (นานครั้งละไม่กี่วินาทีถึง 2-3 นาที) อาจปวดนาน ๆ ครั้ง หรืออาจเป็น ๆ หาย ๆ อยู่เรื่อย ๆ วันละหลายครั้ง (ในรายที่เป็นรุนแรงอาจปวดวันละนับร้อยครั้ง) อาการอาจเป็นนานนับเป็นวัน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือมากกว่า บางรายก็อาจมีช่วงที่ไม่มีอาการปวดไปนานเป็นแรมเดือนหรือแรมปีก่อนที่จะมีอาการกำเริบรอบใหม่
อาการปวดมักจะเป็นบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นตามระยะของโรคที่เป็น
บางรายอาจมีจุดจำเพาะตรงใบหน้าที่เมื่อสัมผัสถูกจะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้
ภาวะแทรกซ้อน
โรคนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่ถ้าปล่อยไว้ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดความทุกข์ทรมานจากอาการปวดเรื้อรัง และเกิดภาวะซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ อาจทำให้กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยที่ต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่อมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น การเคี้ยวอาหาร ซึ่งอาจทำให้น้ำหนักลดในผู้ป่วยบางรายได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากการซักประวัติอาการเป็นหลัก ได้แก่ ลักษณะการปวด ตำแหน่งที่ปวด และสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ และทำการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจพบบริเวณใบหน้าว่ามีตำแหน่งที่ปวดจากความผิดปกติของเส้นประสาทไทรเจมินัลแขนงใดบ้าง
แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพสมองและศีรษะด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อแยกโรคนี้ออกจากโรคอื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกัน (เช่น ไซนัสอักเสบ ความผิดปกติเกี่ยวกับฟันและช่องปาก) และค้นหาสาเหตุ (เช่น เนื้องอกในสมอง multiple sclerosis)
บางรายระหว่างทำ MRI แพทย์อาจทำการฉีดสี (magnetic resonance angiogram) ดูลักษณะหลอดเลือดที่ฐานสมอง
การรักษาโดยแพทย์
ในช่วงแรกแพทย์จะให้กลุ่มยารักษาโรคลมชักเพื่อบรรเทาอาการ ที่นิยมใช้คือ คาร์บามาซีพีน (carbamazepine) ส่วนยาตัวอื่นในกลุ่มนี้ที่แพทย์อาจเลือกใช้ เช่น เฟนิโทอิน (phenytoin), กาบาเพนทิน (gabapentin), กรดวาลโพอิก (valproic acid ), โทพิราเมต (topiramae) เป็นต้น เมื่อใช้ไปนาน ๆ อาจได้ผลน้อยลง แพทย์จะต้องคอยเพิ่มขนาด หรือเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่น
บางรายแพทย์อาจให้ยาบาโคลเฟน (baclofen) ซึ่งเป็นยาคลายกล้ามเนื้อแบบเดี่ยว ๆ หรือร่วมกับยารักษาโรคลมชัก
ในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์อาจเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่น อาทิ
การผ่าตัด เพื่อแก้ไขต้นเหตุ คือแยกหลอดเลือดที่กดทับเส้นประสาทออกไป (microvascular decompression) วิธีนี้ช่วยให้หายขาดได้ถึงร้อยละ 80-85
การฉายรังสีแกมมา (brain stereotactic radiosurgery หรือ gamma knife) เพื่อทำลายเส้นประสาทไทรเจมินัล วิธีนี้ช่วยให้หายปวดได้เป็นส่วนใหญ่ และในรายที่โรคกำเริบ อาจทำซ้ำได้อีก ข้อเสียคือ มีผลข้างเคียง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาบริเวณใบหน้าตลอดเวลา
ทางเลือกอื่น ๆ เช่น การฉีดสารกลีเซอรอล (glycerol injection), การใช้บัลลูนบีบอัด (balloon compression), การแผ่รังสีความร้อนของคลื่นวิทยุ (radiofrequency thermal lesioning) เพื่อทำลายใยประสาทไทรเจมินัล เป็นต้น
ในรายที่ตรวจพบสาเหตุของโรคนี้ ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ถ้าตรวจพบมีเนื้องอกที่กดทับเส้นประสาทไทรเจมินัล ก็จะทำการผ่าตัดออก เป็นต้น
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดแปลบคล้ายถูกไฟฟ้าช็อตหรือเข็มทิ่มที่บริเวณใบหน้า เช่น แก้ม ขากรรไกร ริมฝีปาก ฟัน เหงือก เป็นต้น หรือมีอาการคล้ายปวดฟัน โดยตรวจไม่พบความผิดปกติของฟันที่ชัดเจน หรือได้รับการตรวจรักษาทางทันตกรรมแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีอาการปวดกำเริบขึ้นใหม่
ถ้ากินยาให้แล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มึนงง ง่วงนอน คลื่นไส้ มีไข้ขึ้น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม เป็นต้น
ขาดยาหรือยาหาย
มีความวิตกกังวล
การป้องกัน
โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล
สำหรับผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวในการดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวด
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "Tic douloureux" เนื่องจากผู้ป่วยบางราย เวลามีอาการรู้สึกเจ็บปวด เสียวสะดุ้ง อาจทำหน้าย่น หน้าเบะ หน้าบูดเบี้ยว หรือส่ายศีรษะเป็นพัก ๆ ตามจังหวะที่เกิดอาการปวด ทำให้ดูคล้ายมีอาการหน้ากระตุก (คำว่า tic แปลว่า กล้ามเนื้อกระตุก)
2. ผู้ที่เป็นโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า อาจมีอาการเหมือนปวดเสียวฟัน เนื่องจากถูกกระตุ้นด้วยการแปรงฟัน การเคี้ยวอาหาร หรือการดื่มน้ำร้อนจัดหรือเย็นจัด จึงอาจไปหาทันตแพทย์ ซึ่งอาจตรวจไม่พบความผิดปกติ หรือหากบังเอิญพบมีความปกติเล็กน้อย (เช่น ฟันผุ) ก็อาจได้รับการทำฟันแล้วอาการปวดไม่ดีขึ้น กรณีเช่นนี้แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ทางระบบประสาท
3. แม้ว่าโรคนี้มักมีอาการปวดที่รุนแรงและเรื้อรัง แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงแต่อย่างใด และสามารถรักษาให้หายได้เป็นส่วนใหญ่
ตรวจอาการด้วยตนเอง: โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal neuralgia/Tic douloureux) อ่านบทเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/symptom-checker