โรคเบาหวาน นับว่าเป็นโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่มีชื่อว่า อินซูลิน มีหน้าที่ในการนำน้ำตาลในเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายในร่างกายเพื่อสร้างเป็นพลังงาน ผู้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น จะมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินไม่สามารถทำหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเต็มที่จึงส่งผลให้น้ำตาลในเลือดมีระดับที่สูงขึ้น
ถึงแม้เบาหวานประเภทที่ 2 มักจะเจอในคนที่มีน้ำหนักตัวมาก ซึ่งนำไปสู่ภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ในที่สุด อย่างไรก็ตามเราสามารถสำรวจตัวเองได้ว่า เรามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากน้อยเพียงใด โดยสำรวจปัจจับเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้ดังนี้
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 23
สัดส่วนของรอบเอวต่อส่วนสูงมากกว่า 0.5
มีประวัติคนในครอบครัวญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน
ช่วงตั้งครรภ์มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน
ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคความดันสูง
ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น ไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด
อาการของโรคเบาหวาน
ปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืน มากกว่า 3 ครั้งต่อคืน
กระหายน้ำบ่อย
รับประทานอาหารมากขึ้นแต่น้ำหนักลดลง
ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด
ชาบริเวณปลายมือและปลายเท้าจากปลายประสาทเสื่อม
แผลหายช้า
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
สำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งมีภาวะน้ำตาลในเลือดมีความผิดปกติเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ทั่วร่างกาย ซึ่งภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานสามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม ดังนี้
ภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความรุนแรงที่แพทย์ต้องรีบรักษา เช่น ภาวะหมดสติจากน้ำตาลที่สูงมากหรือภาวะเลือดเป็นกรด
ภาวะแทรกซ้อนแบบเรื้อรัง ส่วนใหญ่เกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ทางแพทย์กำหนดได้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ดังนี้
โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเส้นเลือดในสมอง โรคเบาหวานถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรคหัวใจในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดในสมองตีบ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนทางตา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มากในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจนส่งผลกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาและก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางตาได้ เช่น สูญเสียการมองเห็น จอประสาทตาบวม หรือจอประสาทตาหลุดได้
ภาวะแทรกซ้อนทางไต ไตจะมีการทำงานที่หนักขึ้นในผู้ป่วยโรคเบาหวานเนื่องจากมีน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าเกณฑ์ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของเลือดที่ไต รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของเนื้อไตโดยตรงด้วยและนำไปสู่การมีโปรตีนในปัสสาวะและภาวะไตวาย
ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานโดยจะมีการอักเสบของเส้นประสาทที่มีสาเหตุมาจากน้ำตาลในเลือดสูงจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของเลือดและเกิดการทำลายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทอีกด้วย
เส้นประสาทส่วนปลาย ที่มีความผิดปกติมากที่สุดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยผู้ป่วยจะมีอาการชาเหมือนเป็นเหน็บจากการสูญเสียประสาทที่สามารถรับความรู้สึกได้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณเท้าทั้ง 2 ข้าง ลามไปเรื่อย ๆ และอาจมีอาการปวดเส้นประสาทบ่อย
เส้นประสาทเส้นใดเส้นหนึ่ง เช่น เส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อบนใบหน้าจนอาจส่งผลให้หลับตาไม่สนิทหรือเส้นประสาทที่กล้ามเนื้อตาที่จะทำให้มีอาการกลอกตาไม่ได้ มองเห็นภาพซ้อน
ระบบประสาทอัตโนมัติ อาจมีความผิดปกติของเส้นประสาทที่จะไปเลี้ยงระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบควบคมความดันเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้มีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมได้ เป็นต้น
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน
เมื่อเป็นโรคเบาหวาน ห้ามบริจาคเลือด ?
ผู้เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าหากบริจาคเลือดแล้วผู้ที่ได้รับเลือดจะกลายเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโรคเบาหวานไม่ติดต่อกันทางเลือด ผู้เป็นโรคเบาหวานที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถบริจาคเลือดได้ แต่ผู้เป็นเบาหวานที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์แพทย์ไม่แนะนำให้บริจาคเลือด
โรคเบาหวานสามารถรักษาหายขาดได้ ?
อีกหนึ่งความเชื่อที่มักถูกเข้าใจผิดว่าโรคเบาหวานสามารถรักษาหายขาดได้ เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้สนิท แต่สามารถทำให้อาการของโรคเบาหวานสงบลงได้ คือการคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเหมือนผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานโดยที่ไม่ต้องรับประทานยา ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมและลดน้ำหนัก
โรคเบาหวานคุมน้ำตาลได้ สามารถหยุดยาได้ ?
ส่วนใหญ่โรคเบาหวานจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาเพื่อรักษาและควบคุมระดับน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง การหยุดยาด้วยตัวเองโดยที่ไม่ได้รับการปรึกษาจากทางแพทย์จะทำให้ระดับน้ำตาลกลับมาขึ้นสูง เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจะส่งผลต่อร่างกายทำให้ร่างกายเกิดการแปรปรวน ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ตรวจระดับน้ำตาลเป็นประจำ และติดตามผลกับทางแพทย์อย่างต่อเนื่อง
วิธีการรักษาโรคเบาหวาน
ควบคุมอาหาร ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมและจำกัดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ของหวาน แป้ง ขนมปัง
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ใช้ยา หากผู้ป่วยไม่สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดจากการควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายได้ ต้องใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเพื่อไม่ให้มีผลต่อตับหรือไต
โรคเบาหวาน อาจมีสัญญาณเตือนเบื้องต้นที่สามารถเจอได้ เช่น ปัสสาวะผิดปกติ น้ำหนักลงอย่างไม่มีสาเหตุ ตาพร่ามัว หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ควรรีบเข้ามาตรวจสุขภาพกับแพทย์เพื่อหาสาเหตุของโรคและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง แม้ว่าโรคเบาหวานจะไม่มีการรักษาที่หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
โรคเบาหวาน โรคควรระวัง รู้ก่อนรักษาได้ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/278