ตรวจอาการด้วยตนเอง: ไมเกรน (Migraine) ไมเกรน (โรคปวดหัวข้างเดียว ลมตะกัง ก็เรียก) พบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของประชากรทั่วไป พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในช่วงอายุ 10-30 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3.5 เท่า
โรคนี้มักเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังเป็นแรมปี เริ่มเป็นครั้งแรกตอนย่างเข้าวัยรุ่น หรือระยะหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้ป่วยหญิงมักเป็นโรคนี้ตอนเริ่มมีประจำเดือน บางรายเริ่มเป็นโรคนี้ตั้งแต่เด็ก ซึ่งมักมีอาการปวดท้อง เมารถเมาเรือด้วย มีน้อยรายที่จะมีอาการเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ผู้หญิงที่เคยเป็นไมเกรนมาก่อนเมื่อถึงวัยใกล้หมดประจำเดือน (40-50 ปี) อาจมีอาการปวดศีรษะบ่อยขึ้น บางรายอาจทุเลาหรือหายไปเองเมื่ออายุมากกว่า 50-60 ปีขึ้นไป แต่บางรายอาจเป็นตลอดชีวิต
ไมเกรนจัดว่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่สร้างความรำคาญน่าทรมาน และทำให้เสียการเสียงาน
โรคนี้เกิดได้กับคนทุกระดับ ไม่เกี่ยวกับฐานะทางสังคมหรือระดับสติปัญญา แต่ผู้ป่วยที่มีฐานะดีหรือมีการศึกษาดีมักจะปรึกษาแพทย์บ่อยกว่า ผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่เป็นประจำ มักเป็นคนประเภทเจ้าระเบียบ จู้จี้จุกจิก
โรคนี้ชาวบ้านเรียกว่า ลมตะกัง
สาเหตุ
โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ (พบว่าประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยไมเกรน มีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย) และมักมีสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบในแต่ละครั้ง
ส่วนกลไกการเกิดอาการของโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของสมอง ทั้งในส่วนเปลือกสมอง (cortex) และก้านสมอง (brain stem) ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin พบว่ามีปริมาณลดลงขณะที่มีอาการกำเริบ) โดพามีน (dopamine) และสารเคมีกลุ่มอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นใยประสาทสมองเส้นที่ 5 (trigeminal nerve fiber ที่เลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะ) รวมทั้งการอักเสบร่วมกับการหดและขยายตัวของหลอดเลือดแดงทั้งในและนอกกะโหลกศีรษะ ทำให้เปลือกสมอง (cortex) มีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะและอาการร่วมต่าง ๆ ขึ้นมา
สาเหตุกระตุ้น
ผู้ป่วยมักบอกได้ว่า มีสาเหตุต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึ่งแต่ละคนอาจมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป แต่มักจะมีได้หลาย ๆ อย่าง ได้แก่
1. สิ่งกระตุ้นทางตา อาทิ
มีแสงสว่างจ้าเข้าตา เช่น ออกกลางแดดจ้า ๆ แสงจ้า แสงไฟกะพริบ แสงสีระยิบระยับในโรงมหรสพหรือสถานเริงรมย์ เป็นต้น
การใช้สายตาเพ่งดูอะไรนาน ๆ เช่น ดูภาพยนตร์ หนังสือ จอคอมพิวเตอร์ หรือกล้องจุลทรรศน์ เย็บปักถักร้อย เป็นต้น
2. กระตุ้นทางหู อาทิ
การอยู่ในที่ที่มีเสียงดังจอแจ เช่น ตลาดนัด หรือเสียงอึกทึก (เช่น เสียงกลอง เสียงระฆัง)
3. สิ่งกระตุ้นทางจมูก อาทิ
การสูดดมกลิ่นฉุน ๆ เช่น กลิ่นน้ำมันรถ กลิ่นสีหรือทินเนอร์ กลิ่นสารเคมี หรือยาฆ่าแมลง ควันบุหรี่ กลิ่นน้ำหอมหรือดอกไม้ เป็นต้น
4. สิ่งกระตุ้นทางลิ้น (อาหารและยา) อาทิ
การดื่มกาแฟมาก ๆ ก็อาจกระตุ้นให้ปวดได้ (แต่บางคนดื่มกาแฟแล้วอาการทุเลา หรือขาดกาแฟกลับทำให้ปวดไมเกรน)
เหล้า เบียร์ เหล้าองุ่นแดง (red wine) ถั่วต่าง ๆ กล้วย นมเปรี้ยว เนยแข็ง ช็อกโกแลต ตับไก่ ไส้กรอก อาหารทะเล อาหารทอดน้ำมัน อาหารหมักดองหรือรมควัน ผงชูรส น้ำตาลเทียม (aspartame) สารกันบูด ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว (เช่น ส้ม มะนาว) หอม กระเทียม ล้วนกระตุ้นทำให้ปวดได้
ยานอนหลับ ยาขยายหลอดเลือด (เช่น ไนโตรกลีเซอรีน) ยาลดความดัน (เช่น ไฮดราลาซีน รีเซอร์พีน) ยาขับปัสสาวะ
5. สิ่งกระตุ้นทางกาย (กายภาพ) อาทิ
การอยู่ในที่ร้อนหรือเย็นเกินไป เช่น อากาศร้อนหรือหนาวจัด ห้องที่อบอ้าว ห้องปรับอากาศเย็นจัด อากาศเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
การอดนอน (นอนไม่พอ) หรือนอนมากเกินไป การนอนตื่นสาย (เช่น ในวันหยุดสุดสัปดาห์)
การอดข้าว กินข้าวผิดเวลา หรือกินอิ่มจัด เชื่อว่าเกี่ยวกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) ซึ่งกระตุ้นให้ปวดศีรษะได้ บางครั้งพบว่าผู้ป่วยไมเกรนเมื่อเป็นโรคเบาหวาน (มีน้ำตาลในเลือดสูง) อาการปวดจะหายไป
การนั่งรถ นั่งเรือ หรือนั่งเครื่องบิน
การเปลี่ยนแปลงของระดับความสูงหรือความดันบรรยากาศ
อาการเจ็บปวดตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
การเป็นไข้ เช่น ตัวร้อนจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
การออกกำลังกายจนเหนื่อยเกินไป รวมทั้งการร่วมเพศ
ร่างกายเหนื่อยล้า
การถูกกระแทกแรง ๆ ที่ศีรษะ (เช่น การใช้ศีรษะโหม่งฟุตบอล) ก็อาจทำให้ปวดศีรษะทันที
อิทธิพลของฮอร์โมนเพศ สำหรับผู้ป่วยหญิงมีผลต่อการเกิดอาการไมเกรนอย่างมาก เช่น บางรายมีอาการปวดเฉพาะเวลาใกล้จะมีหรือขณะมีประจำเดือน บางรายในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ก็อาจทำให้อาการกำเริบมากขึ้น เมื่อเลยระยะ 3 เดือนไปแล้ว อาการมักจะหายไปจนกระทั่งหลังคลอด (ในระยะ 6 เดือนหลังของการตั้งครรภ์มักมีฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนสูง) บางรายกินยาเม็ดคุมกำเนิด (มีฮอร์โมนเอสโทรเจน) ทำให้ปวดบ่อยขึ้น พอหยุดกินยาก็ดีขึ้น หรือฉีดยาคุมกำเนิดอาการมักจะทุเลา
6. สิ่งกระตุ้นทางใจ (อารมณ์) อาทิ
ความเครียดทางอารมณ์ คิดมาก อารมณ์ขุ่นมัว ตื่นเต้น ตกใจ
สาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน
อาการ
มักมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดแบบตุบ ๆ (เข้ากับจังหวะการเต้นของหัวใจ) ที่บริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่ง อาจปวดสลับข้างในแต่ละครั้ง ส่วนน้อยจะปวดพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง บางรายอาจมีอาการปวดที่รอบ ๆ กระบอกตาร่วมด้วย แต่ละครั้งมักจะปวดนาน 4-72 ชั่วโมง และจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือสัมผัสถูกแสง เสียง หรือกลิ่น มักปวดรุนแรงปานกลางถึงมากจนเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวัน ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย และบางรายอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย (หลังอาเจียนอาการปวดจะค่อย ๆ ทุเลาไปเอง) ผู้ป่วยมักมีอาการกลัว (ไม่ชอบ) แสงหรือเสียงร่วมด้วย ชอบอยู่ในห้องที่มืดและเงียบ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตาพร่ามัว คัดจมูก ท้องเดิน ปัสสาวะออกมาก ซีด เหงื่อออก บวมที่หนังศีรษะหรือใบหน้า เจ็บหนังศีรษะ มีเส้นพองที่ขมับ ขาดสมาธิ อารมณ์แปรปรวน รู้สึกศีรษะโหวง ๆ รู้สึกจะเป็นลม แขนขาเย็น เป็นต้น
บางรายอาจมีอาการเวียนศีรษะ หรือบ้านหมุน โดยอาจมีหรือไม่มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยก็ได้*
บางรายก่อนมีอาการปวดศีรษะ อาจมีสัญญาณบอกเหตุ (aura)** ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาการผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น เห็นแสงวอบแวบหรือระยิบระยับ เห็นเป็นเส้นหยัก ภาพเบี้ยว ภาพเล็กหรือใหญ่เกินจริง หรือเห็นดวงมืดในลานสายตา ซึ่งจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลา 5-20 นาที และมักจะเป็นอยู่นานไม่เกิน 60 นาที
ส่วนน้อยอาจมีสัญญาณบอกเหตุในลักษณะอื่น ๆ เช่น มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน (รู้สึกเสียวแปลบ ๆ เหมือนถูกเข็ม หรือเหมือนมีตัวอะไรไต่) ที่มือและแขน รอบปากและจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ชาที่ใบหน้าและแขนขา มีความรู้สึกไวต่อการสัมผัส พูดไม่ได้หรือพูดลำบาก บ้านหมุน มีเสียงหลอนหรือกลิ่นหลอน เห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง*** อาการเหล่านี้มักเป็นเพียงชั่วขณะแล้วทุเลาไปได้เอง
อาการปวดศีรษะ มักเกิดขึ้นภายใน 60 นาที (บางครั้งหลายชั่วโมง) หลังสัญญาณบอกเหตุทุเลาลงแล้ว
บางรายสัญญาณบอกเหตุอาจเป็นต่อเนื่อง แม้ภายหลังมีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้นแล้ว
บางรายอาจมีสัญญาณบอกเหตุโดยไม่มีอาการปวดตุบ ๆ แบบไมเกรนตามมา หรือมีอาการปวดศีรษะในลักษณะแตกต่างจากไมเกรน (เช่น ปวดมึน ปวดตื้อ) ตามมาก็ได้
นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการผิดปกติล่วงหน้าหรือตามหลังระยะปวดไมเกรน
อาการผิดปกติล่วงหน้า (prodome) อาจเกิดก่อนปวดศีรษะเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ เช่น อารมณ์แปรปรวน (หงุดหงิด ซึมเศร้า หรือครึ้มใจ) อ่อนเพลีย หาวบ่อย ง่วงนอนมาก รู้สึกอยากอาหารบางชนิด (เช่น ช็อกโกแลต ของหวาน) กล้ามเนื้อตึง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คอ) ท้องผูกหรือท้องเดิน ปัสสาวะออกมาก
ส่วนอาการผิดปกติที่อาจพบภายหลังหายปวดศีรษะแล้ว (postdome) เช่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด เฉยเมย ขาดสมาธิ เจ็บหนังศีรษะ อารมณ์แปรปรวน รู้สึกศีรษะโหวง ๆ กลัวแสง เบื่ออาหาร เป็นต้น
ในเด็กมักมีอาการคล้ายดังกล่าวข้างต้น แต่มักจะปวดขมับพร้อมกัน 2 ข้าง และปวดนานน้อยกว่าผู้ใหญ่ (นานประมาณ 1-48 ชั่วโมง) ไม่ค่อยมีสัญญาณบอกเหตุทางตา (อาการผิดปกติทางสายตา) แต่มักมีอาการผิดปกติล่วงหน้า เช่น หาวบ่อย ง่วงนานมากหรือเฉยเมย มีความรู้สึกอยากอาหารบางชนิด (เช่น ช็อกโกแลต ของหวาน นมเปรี้ยว กล้วย)
เด็กบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง กลัวแสง กลัวเสียง โดยไม่มีอาการปวดศีรษะก็ได้ (เมื่อโตขึ้นก็จะมีอาการปวดศีรษะไมเกรน)
*ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเวียนศีรษะ หรือบ้านหมุนเป็นสำคัญ ซึ่งมักเป็นอยู่นานเป็น 5 นาทีจนถึง 72 ชั่วโมง โดยอาจมีอาการก่อนหรือหลัง หรือเป็นพร้อมกันกับอาการปวดศีรษะ หรืออาจไม่มีอาการปวดศีรษะเลยก็ได้ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีความรู้สึกโคลงเคลง เสียการทรงตัว สับสน หูตึงหรือได้ยินไม่ชัด หูอื้อหรือมีเสียงในหู หรือกลัวแสง กลัวเสียง (แสงเสียงจะกระตุ้นให้อาการกำเริบหนัก) ร่วมด้วย มักเกิดขึ้นเมื่อหันศีรษะเร็ว นั่งยานพาหนะหรือเครื่องเล่น อยู่ในฝูงชนแออัด สับสนอลหม่าน หรือดูสิ่งที่เคลื่อนไหว (เช่น รถแล่น คนเดิน) หรือภาพเคลื่อนไหว (ภาพยนตร์ โทรทัศน์) และอาจมีสาเหตุกระตุ้นอื่น ๆ แบบที่กระตุ้นให้มีอาการปวดศีรษะในผู้ป่วยไมเกรน ผู้ป่วยมักมีประวัติโรคไมเกรนในครอบครัว มีประวัติปวดศีรษะจากโรคไมเกรน หรือมีอาการเมารถเมาเรือบ่อย ๆ มาก่อน ไมเกรนชนิดนี้ เรียกว่า "ไมเกรนชนิดเวียนศีรษะ" ("vestibular migraine" "migraine- associated vertigo" "migrainous vertigo" หรือ "migraine-related vestibulopathy") สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับหูชั้นใน (ซึ่งทำหน้าที่ด้านการได้ยินและการทรงตัว) พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5 เท่า มักพบในคนอายุราว ๆ 40 ปี แต่ก็อาจพบในคนอายุน้อยก็ได้
การรักษา ให้ยาบรรเทาตามอาการ อาทิ ยาแก้ปวด (เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน) ยาแก้เวียนศีรษะ บ้านหมุน (เช่น ไดเมนไฮดริเนต) ในรายที่เป็นบ่อยหรือกระทบต่อการดำเนินชีวิต แพทย์ก็จะให้ยาป้องกันแบบที่ใช้กับโรคไมเกรน
**ผู้ป่วยไมเกรนส่วนใหญ่ มักจะไม่มีสัญญาณบอกเหตุนำมาก่อน เรียกว่า ไมเกรนชนิดไม่มีสัญญาณบอกเหตุ (migraine without aura) เดิมเรียกว่า ไมเกรนชนิดสามัญ (common migraine) มีเพียงร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วยไมเกรนที่จะมีสัญญาณบอกเหตุนำมาก่อน เรียกว่า ไมเกรนชนิดมีสัญญาณบอกเหตุ (migraine with aura) เดิมเรียกว่า ไมเกรนชนิดตรงต้นแบบ (classical migraine) ผู้ป่วยที่เคยมีสัญญาณบอกเหตุต่อไปอาจมีอาการปวดไมเกรนโดยไม่มีสัญญาณบอกเหตุก็ได้
***อาการแขนขาอ่อนแรงจะเป็นเพียงชั่วคราว และฟื้นหายเป็นปกติได้เอง เกิดจากสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วขณะ ซึ่งพบในผู้ที่เป็นไมเกรนชนิดที่พบได้น้อย ได้แก่
- ไมเกรนชนิดแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก (hemiplegic migraine) พบในเด็กและคนอายุต่ำกว่า 20 ปี มักมีประวัติโรคไมเกรนชนิดนี้ในครอบครัว เมื่อมีอาการกำเริบ จะมีอาการแขนและขาซีกหนึ่งอ่อนแรง อาจสลับข้างในการกำเริบแต่ละครั้ง อาการอาจเป็นอยู่นานประมาณ 5-60 นาที บางรายอาจนานถึง 24 ชั่วโมง และอาจมีอาการชา ตาพร่า เดินเซ ชัก หรือหมดสติร่วมด้วย
- ไมเกรนชนิดก้านสมองขาดเลือด (basilar migraine) พบบ่อยในหญิงวัยรุ่น เกิดจากก้านสมอง (brain stem) ขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วขณะ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดไมเกรน ร่วมกับอาการบ้านหมุน พูดลำบาก เห็นภาพซ้อน สับสน เป็นลม หมดสติ แขนขาอ่อนแรงทั้ง 4 ข้าง ซึ่งจะเป็นนานประมาณ 20-30 นาที บางรายอาจนานหลายวัน
ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่จะเป็น ๆ หาย ๆ เป็นช่วง ๆ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากอาจทำให้มีความวิตกกังวลหรือซึมเศร้า
บางรายอาจมีอาการปวดไมเกรนต่อเนื่อง (status migrainosus) คือปวดติดต่อกันนานเกิน 72 ชั่วโมง หรืออาจเป็นไมเกรนเรื้อรัง (chronic migraine) คือปวดมากกว่า 15 วัน/เดือน
โรคไมเกรนเรื้อรัง มักจะสัมพันธ์กับโรควิตกกังวล โรคแพนิก โรคอารมณ์แปรปรวนหรือซึมเศร้า มีภาวะเครียด หรือมีการใช้ยาแก้ปวดไมเกรนมากเกินไป (มากกว่า 2-3 ครั้ง/สัปดาห์)
มีน้อยรายมากที่อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองจากภาวะขาดเลือดแทรกซ้อน ซึ่งมักพบในผู้หญิงที่เป็นไมเกรนชนิดมีสัญญาณบอกเหตุ (aura) ที่มีประวัติสูบบุหรี่ และ/หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิด
นอกจากนี้ ผู้ป่วยไมเกรนยังอาจมีภาวะอื่น ๆ ร่วมด้วยมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นไมเกรน เช่น โรคลมชัก ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติจากกรรมพันธุ์ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคลำไส้แปรปรวน ความดันโลหิตสูง โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ (hereditary essential tremor) เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและประวัติการเจ็บป่วยเป็นหลัก
ส่วนการตรวจร่างกาย มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน
บางรายขณะที่มีอาการปวด อาจคลำได้หลอดเลือดที่บริเวณขมับโป่งพองและเต้นตุบ ๆ (ลักษณะนุ่ม ไม่เป็นลำแข็งและกดไม่เจ็บ) บางรายอาจพบอาการเจ็บเสียวที่หนังศีรษะเวลาสัมผัสถูก
น้อยรายมากที่อาจพบอาการแสดงของสัญญาณบอกเหตุ เช่น พูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรง หมดสติ
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคไมเกรนชนิดไม่มีสัญญาณบอกเหตุ
มีอาการปวดศีรษะกำเริบอย่างน้อย 5 ครั้ง ซึ่งมีลักษณะอาการดังนี้
1. ปวดศีรษะแต่ละครั้งนาน 4-72 ชั่วโมง
2. มีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 อย่าง
ปวดข้างเดียว
ปวดแบบตุบ ๆ
ปวดรุนแรงปานกลางถึงมาก (เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวัน)
ปวดมากขึ้นเมื่อเดินขึ้นบันไดหรือเคลื่อนไหวร่างกาย
3. มีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 1 อย่าง
คลื่นไส้ อาเจียน หรือทั้ง 2 อย่าง
กลัวแสง กลัวเสียง หรือทั้ง 2 อย่าง
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคไมเกรนชนิดมีสัญญาณบอกเหตุ
มีอาการกำเริบอย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งมีลักษณะอาการดังนี้
1. มีสัญญาณบอกเหตุอย่างน้อย 1 อาการ (โดยไม่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรืออัมพาต) ดังต่อไปนี้
อาการผิดปกติทางสายตา เช่น เห็นแสงวอบแวบ เห็นเป็นเส้นหยัก ภาพเบี้ยว ภาพเล็กหรือใหญ่เกินจริง เห็นดวงมืดในลานสายตา
ความรู้สึกสัมผัสผิดปกติ เช่น รู้สึกเสียวแปลบเหมือนถูกเข็มตำ หรือมีตัวอะไรไต่ ชาที่ใบหน้าหรือแขนขา
มีอาการพูดไม่ได้หรือพูดลำบาก
2. มีอาการบอกเหตุมีลักษณะอย่างน้อย 2 ข้อต่อไปนี้
ก. มีอาการผิดปกติทางสายตาข้างเดียว และ/หรือความรู้สึกสัมผัสผิดปกติข้างเดียว
ข. มีสัญญาณบอกเหตุอย่างน้อย 1 อาการที่ค่อย ๆ เกิดมากขึ้นในช่วงเวลามากกว่า 5 นาที และ/หรือมีสัญญาณบอกเหตุต่าง ๆ ทยอยเกิดตามกันมาในช่วงเวลามากกว่า 5 นาที
ค. สัญญาณบอกเหตุแต่ละอย่างเป็นอยู่นาน 5-60 นาที
การรักษาโดยแพทย์
1. ขณะที่มีอาการกำเริบ แพทย์จะให้ยาบรรเทาปวด ได้แก่ ยาแก้ปวด-พาราเซตามอล, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน ซึ่งมักจะให้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง บางรายแพทย์อาจให้ทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน
และแนะนำผู้ป่วยปฏิบัติตัวในการดูแลรักษาตัวเองและการป้องกันไม่ให้กำเริบบ่อย ข้อสำคัญคือ การให้ยาบรรเทาอาการ ต้องรีบกระทำทันทีเมื่อเริ่มรู้สึกมีอาการกำเริบจึงจะได้ผลดี
ถ้ามีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย ให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เช่น เมโทโคลพราไมด์
ถ้ามีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน คลื่นไส้หรืออาเจียน หรืออาการคล้ายเมารถเมาเรือ (ในรายที่เป็นไมเกรนชนิดเวียนศีรษะ) ให้ยาแก้เวียนศีรษะ เมารถเมาเรือ เช่น ไดเมนไฮดริเนต
2. ในรายมีอาการปวดมาก หรือที่กินยาบรรเทาปวดแล้วไม่ทุเลา แพทย์จะให้ยารักษาไมเกรนกลุ่มทริปแทน (triptan) เช่น ซูมาทริปแทน (sumatriptan)* ซึ่งอาจให้ร่วมกับยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
ถ้ามีอาการคลื่นไส้มากจนกินยาไม่ได้ แพทย์จะให้ยาชนิดฉีด เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไดโคลฟีแนก, ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน (dihydroergotamine), ยาแก้อาเจียน เช่น เมโทโคลพราไมด์ เป็นต้น
3. ถ้าปวดรุนแรง ปวดติดต่อกันนานเกิน 72 ชั่วโมง แขนขาอ่อนแรงหรือหมดสติ ตามืดมัวหรือเห็นภาพซ้อน หรือสงสัยเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่น ๆ (เช่น ต้อหินเฉียบพลัน หลอดเลือดแดงขมับอักเสบ โรคหลอดเลือดสมองแตก ศีรษะได้รับบาดเจ็บ/เลือดออกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น) แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เจาะหลัง ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ถ้าตรวจพบว่าเป็นไมเกรนที่มีอาการแขนขาอ่อนแรงหรือหมดสติ (เป็นอาการแสดงของไมเกรนชนิดรุนแรง ซึ่งพบได้น้อยมาก) แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษาแบบประคับประคอง อาการจะเป็นอยู่ชั่วคราวและหายได้เอง
4. ในรายที่มีอาการมากกว่าเดือนละ 3 ครั้ง แพทย์อาจให้ยาป้องกัน (ดูที่หัวข้อ "การป้องกัน" ด้านล่าง) ถ้าใช้ยาไม่ได้ผล หรือมีอาการปวดแทบทุกวัน (มากกว่า 15 วัน/เดือน) ซึ่งถือว่าเป็นไมเกรนเรื้อรัง แพทย์จะตรวจหาสาเหตุและแก้ไขตามสาเหตุที่พบ (เช่น ภาวะซึมเศร้า, การใช้ยารักษาไมเกรนพร่ำเพรื่อมากไป เป็นต้น)
ผลการรักษา โรคนี้มักเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง การใช้ยาและการดูแลตนเองช่วยให้ผู้ป่วยปลอดจากอาการได้นานระยะหนึ่ง หากเจอสิ่งกระตุ้นก็จะกำเริบได้อีก
*ยากลุ่มทริปแทน มีอยู่หลายชนิด มีฤทธิ์กระตุ้นสารซีโรโทนิน (serotonin agonist) และอาจมีผลข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ออกร้อนวูบวาบตามตัว บางรายอาจมีอาการกลืนลำบาก ลมพิษ ผื่นคัน เจ็บหรือแน่นหน้าอกได้ มีข้อควรระวัง ได้แก่
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมองตีบ หรือหลอดเลือดส่วนปลายตีบ ความดันโลหิตที่ยังควบคุมไม่ได้ ผู้ที่เป็นไมเกรนชนิดแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกหรือชนิดก้านสมองขาดเลือด หญิงตั้งครรภ์
- ไม่ควรใช้ควบกับยากลุ่มเออร์โกตามีน (ควรเว้นช่วงห่างอย่างน้อย 24 ชั่วโมง) เนื่องจากมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดแดงหดเกร็ง (vasospasm)
- ห้ามใช้นับรวมกันเกิน 10 วันต่อเดือน เพราะอาจทำให้เกิด "ภาวะปวดศีรษะจากการใช้ยาเกิน (medication overuse headache)"
สำหรับซูมาทริปแทน ให้กินขนาด 50-100 มก. ครั้งเดียว ถ้าไม่ทุเลาอาจกินซ้ำได้อีกครั้งใน 2 ชั่วโมงต่อมา (ไม่ควรเกิน 200 มก./24 ชั่วโมง)
การดูแลตนเอง
ถ้ามั่นใจ หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไมเกรน ควรดูแลตนเอง ดังนี้
กินยาแก้ปวด-พาราเซตามอล* หรือยาที่แพทย์แนะนำ ทันทีที่มีอาการ
หยุดงานหรือกิจกรรมที่ทำ หยุดการเคลื่อนไหวไปมา หาทางนอนหรือนั่งแบบผ่อนคลายอารมณ์ (อาจตามลมหายใจเข้าออก) ในห้องที่เงียบ มีแสงสลัว และอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อบอ้าว จนกว่าอาการปวดจะทุเลา
สังเกตว่ามีสาเหตุอะไรที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ แล้วหาทางหลีกเลี่ยงเสีย (โดยจดบันทึกเรื่องราวการกำเริบของโรคนี้ที่เกิดขึ้นทุกครั้งว่า ก่อนมีอาการกำเริบมีการดำเนินชีวิตอย่างไร ทำอะไร สัมผัสอะไร นอนหลับพักผ่อนดีหรือไม่ ร่างกายและจิตใจมีความเครียดหรือไม่)
ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ปวดรุนแรง ปวดจนนอนไม่หลับ เวียนศีรษะมาก หรืออาเจียนมาก
มีอาการปวดตารุนแรง
ตรวจพบความดันโลหิตสูง
ปวดนานเกิน 72 ชั่วโมง
คลำได้เส้นปูดที่ขมับ (ข้างที่ปวด) เป็นลำแข็งกดเจ็บ
ตามืดมัวหรือเห็นภาพซ้อนต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ
แขนขาชาหรืออ่อนแรง เดินเซ หรือชักกระตุก
เป็นการปวดครั้งแรกในคนอายุมากกว่า 40 ปี
เป็นๆ หาย ๆ บ่อย หรือมีอาการกำเริบแรงหรือถี่ขึ้นกว่าเดิม
หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยา จากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ
การป้องกัน
1. สำหรับผู้ที่ปวดไมเกรนบ่อย ๆ ให้พยายามค้นหาสิ่งที่กระตุ้นให้ปวด แล้วหลีกเลี่ยงเสีย เช่น
ถ้ากินยาเม็ดคุมกำเนิดทำให้ปวดบ่อย ก็เลิกยานี้เสีย และหันไปใช้ยาคุมชนิดฉีดแทน (ยานี้มีฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน มีส่วนช่วยป้องกันไมเกรน)
ถ้ากินอาหารผิดเวลา กินอาหารจำพวกโปรตีนมาก อาหารใส่ผงชูรส หรือดื่มแอลกอฮอล์ แล้วปวดไมเกรน ก็ควรหลีกเลี่ยงเสีย
ถ้าออกกลางแดด หรือเข้าไปในที่ที่มีแสงจ้า อากาศร้อน หรือเสียงอึกทึกจอแจ (เช่น ตลาดนัด) หรืออดนอน แล้วปวดไมเกรน ก็ควรหลีกเลี่ยงเสีย เป็นต้น
2. ถ้าไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุกระตุ้น หรือทราบแต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และยังปวดอยู่บ่อย ๆ (มากกว่า 3 ครั้ง/เดือน) จนเสียการเสียงาน แพทย์จะให้ยากินป้องกันไม่ให้ปวด ซึ่งมีอยู่หลายขนาน โดยให้เลือกใช้ขนานใดขนานหนึ่ง เช่น อะมิทริปไทลีน, ไพโซติเฟน, ไซโพรเฮปตาดีน, โพรพราโนลอล, โซเดียมวาลโพรเอต (sodium valproate), โทพิราเมต (topiramate) เป็นต้น และให้กินเป็นประจำทุกวัน ควรให้ติดต่อกันนาน 4-6 เดือนจึงค่อยหยุดยา เมื่อกลับมามีอาการกำเริบบ่อย ๆ อีก ก็ให้กินยาป้องกันซ้ำอีก