หลายคนไม่ทราบค่าความดันโลหิตของตนเอง ทำให้ไม่ทราบถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายที่มีสาเหตุมาจากค่าความดันที่ผิดปกติ จึงไม่ได้ดูแลสุขภาพเท่าที่ควรจะเป็น นำมาซึ่งการเกิดโรคหลายโรคด้วยกัน ดังนั้นการทราบค่าความดันโลหิตของตนเองเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรรู้ รวมถึงความสำคัญของค่าความดันที่แสดงถึงสุขภาพของร่างกายว่าอยู่ในความเสี่ยงต่อโรคหรือไม่อย่างไร
ค่าความดัน คือ แรงดันในหลอดเลือด ช่วงหัวใจบีบตัวและคลายตัว
ขณะหัวใจบีบตัวแรงดันในหลอดเลือดสูงขึ้น เรียกความดันตัวบน (Systolic)
ขณะหัวใจคลายตัว แรงดันเกิดจากการยืดหยุ่นของหลอดเลือด เรียกความดันตัวล่าง (Diastolic)
ในคนปกติความดันตัวบนไม่ควรเกิน 120 และตัวล่างไม่ควรเกิน 80 มิลลิเมตรปรอท
หากความดันตัวบนเกิน 140 หรือตัวล่างเกิน 90 มิลลิเมตรปรอท ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
ความดันโลหิตสูงยังเป็นสาเหตุของโรคร้ายหลายโรค อาทิ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ โรคไต ฯลฯ
ลด งด เลี่ยง ถ้าไม่อยากเสี่ยงโรคความดันเลือดสูง
โรคความดันเลือดสูงอาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนและโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดในสมอง โรคไตเสื่อม เป็นต้น
ลดอาหารเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป เช่น กะปิ น้ำปลา ของหมักดอง
ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะทำให้มีโอกาสเป็นโรคความดันเลือดสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์
ลดอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อติดมัน หนังสัตว์ ไข่แดง หอยนางรม อาหารประเภทผัด หรือทอด
งดการสูบบุหรี่เพราะสารพิษในควันบุหรี่ ส่งผลให้เกิดการอักเสบ ตีบตัน ของหลอดเลือดต่าง ๆ รวมทั้งหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดไต
ลดน้ำตาลที่อยู่ในอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมที่มีรสหวาน
หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เครียด รักษาสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ
การดูแลตัวเองในผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตต่ำ
สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ มักจะเกิดอาการหน้ามืดบ่อยๆ ระหว่างทำกิจกรรมบางอย่าง คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับโรคและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ รวมถึงคนทั่วไปที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ร่วมกันเพื่อดูแลคนใกล้ชิดที่ประสบปัญหาได้อย่างถูกวิธี
ความดันต่ำ คือ ภาวะความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 90 มม. ปรอทและความดันโลหิตตัวล่างต่ำกว่า 60 มม. ปรอท อาจต่ำเพียงแค่ตัวเดียวหรือทั้งสองตัวก็ได้
อาการของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ได้แก่ เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถเร็ว
บางรายอาจมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย ชีพจรเต้นเบาและเร็วร่วมด้วย
การดูแลตัวเองของผู้ป่วย คือไม่ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้ออิ่มมากเกินไป
ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
การเปลี่ยนอิริยาบถต้องค่อย ๆ ทำอย่างช้า ๆ แต่ถ้าหากมีอาการหายใจหอบเหนื่อยมาก เจ็บแน่นหน้าอก ควรรีบพบแพทย์ทันที
รู้จักกับตัวเลขของค่าโรคความดันโลหิต ที่เป็นสาเหตุของโรคร้าย อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/247